- Dr.Kaet
ค้นพบแล้วยีนทำที่ให้ผอม แต่เป็นยีนมะเร็ง?
จากงานวิจัยล่าสุดที่มีการตีพิมพ์ที่ Cellในปี 2020 นี้ แสดงให้เห็นว่าคนที่มีการแปรผันของยีน anaplastic lymphoma kinase (ALK) นั้นจะทำให้ผอม กินได้มากและไม่อ้วน

นักวิจัยชื่อ Josef Penninger จากมหาวิทยาลัย University of British Columbia กล่าวไว้ว่ามีคนในโลกนี้อยู่ประมาณ 1% ของประชากรที่สามารถรับประทานอาหารเท่าไรก็ได้ตามที่พวกเขาต้องการโดยไม่เป็นโรคอ้วน และโรคเผาผลาญสารอาหารผิดปกติ (Metabolic Syndrome)
ในสมัยก่อนนั้นเรามักจะไปเฟ้นหายีนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำให้เกิดโรคอ้วนขึ้นมา ซึ่งมันก็มีมากมากกว่า 700 SNPs(ความแตกต่างของลำดับเบส 1 จุดบนสาย DNA แต่ละบุคคล) ที่มีความสัมพันธ์กับค่า body mass index(BMI) แต่ก็มียีนเพียงไม่กี่ยีนที่เราสามารถระบุได้ว่าทำหน้าที่เกี่ยวกับการควบคุมน้ำหนัก ดังนั้นแทนที่จะมุ่งเน้นไปค้นหายีนที่ทำให้อ้วนเหมือนที่งานวิจัยอื่น ๆ เคยทำในอดีต Josef Penninger และคณะกลับมุ่งเน้นไปค้นหายีนที่ทำให้ผอมแทน
การศึกษา Genome-wide association จากข้อมูลทางพันธุกรรมชาวเอสโตเนียของ Estonia Biobank โดยการเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มคนสองกลุ่ม กลุ่มแรกคือกลุ่มควบคุม(control) นั้น BMI อยู่ที่เปอร์เซ็นไทล์ที่ 50 และกลุ่มผอมคือ BMI อยู่ที่เปอร์เซ็นไทล์ที่ 6 โดยได้มีการปรับค่า BMI ตามเพศและอายุ รวมทั้งตัดปัจจัยรบกวนที่จะทำให้ผลลัพธ์คลาดเคลื่อน อย่างเช่นคนที่มีภาวะ lipodystrophy หรือ anorexia nervosa ออกไปแล้ว พบว่ามีตำแหน่งความแปรผันทางพันธุกรรมที่มีนัยสำคัญทางสถิติอยู่ทั้งหมด 5 ตำแหน่ง แบ่งออกเป็น intergenic(ตำแหน่งระหว่างยีน) 2 ตำแหน่งและ intronic loci(ตำแหน่งที่อยู่ในยีน แต่ถูกตัดออกตอนที่จะมีการแสดงออกของยีน) 3 ตำแหน่ง

ซึ่งหนึ่งในนั้นน่าตกใจเป็นอย่างมากนั่นคือยีน anaplastic lymphoma kinase (ALK) ซึ่งเป็นยีนที่เรารู้กันดีอยู่แล้วว่าหากมีการแสดงออกของยีนที่มากผิดปกติจะทำให้เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งนั่นเอง จากการศึกษา GWAS data ทั้งในแมลงวัน และหนูพบว่าการแปรผันทางพันธุกรรมของยีน ALK นั้นมีผลกับระดับไขมัน (triglyceride) และระดับฮอโมน adiponectin ในกระแสเลือด รวมไปถึงการควบคุมสมดุลระดับน้ำตาลในเลือด
มีการศึกษาว่า หากให้อาหารหนูด้วยอาหารไขมันสูงนานติดต่อกันนาน 16 สัปดาห์ โดยเปรียบกันระหว่างหนูปกติ (wildtype) กับหนูที่ลดการแสดงออกของยีน ALK(Knockout) ผลออกมาว่าหนูที่ ALK knockout นั้นมีน้ำหนักน้อยกว่า ปริมาณไขมันน้อยกว่า ปริมาณกล้ามเนื้อปกติดี อีกทั้งยังมีความไวต่อน้ำตาลกลูโคสเป็นอย่างดี พวกมันมีการใช้พลังงานต่อวันที่สูงกว่าหนูทั่วไป ดังนั้นจึงสรุปได้ว่ายีนดังกล่าวนี้มีผลต่อการควบคุมความอ้วนอย่างแน่นอน
ในหนูทดลอง ยีน ALK นี้จะแสดงผลมากที่สมองส่วน cerebellum, cortex และ hypothalamus ซึ่งเป็นสมองส่วนควบคุมประสาทอัตโนมัติ แต่จะไม่แสดงผลที่เนื้อเยื่อที่เกี่ยวข้องกับระบบเผาผลาญเช่น ตับ กล้ามเนื้อ ไขมันขาว ไขมันน้ำตาล การที่ยับยั้งการแสดงออกของยีน ALK(ALK knockout) จึงส่งผลที่สมองเป็นหลัก หากยับยั้งการแสดงออกในสมองส่วน hypothalamus ก็จะทำให้ร่างกายเกิดระบบประสาทกระตุ้น(sympathetic activity) เป็นสาเหตุทำให้หนูตัวนั้นใช้พลังงานมาก ใช้น้ำตาลมาก สลายไขมันมาก ทำให้ผอมนั่นเอง
โดยในปัจจุบันนี้มีการใช้ยาที่ยับยั้งการแสดงออกของ ALK อยู่แล้วในผู้ป่วยมะเร็งบางชนิด ดังนั้นในอนาคตข้างหน้าใครจะไปรู้ว่า เราอาจจะได้เห็นยาที่สามารถยับยั้งการเกิดมะเร็ง อีกทั้งยังมีประโยชน์ทำให้ผอมได้อีกด้วย
น.พ. หลักเขต เหล่าประไพพรรณ
(Anti-aging and Integrative Medicine)
Reference :