- Dr.Kaet
Gut Microbiome สำคัญไฉน ?

Microbiome หรือ ยีนของจุลชีพที่อาศัยอยู่ร่วมกับร่างกายของเรามาตั้งแต่เกิด สิ่งเหล่านี้มันมีผลกระทบต่อสุขภาพของร่างกายเราได้มากน้อยแค่ไหน วันนี้ Geneus จะมาให้คำตอบกัน
หลาย ๆ คนคงเคยได้ยินคำว่าจุลชีพมาก่อน ใกล้ตัวที่สุดเลย แทบทุกคนคงจะเคยได้ยินว่าในนมเปรี้ยวพร้อมดื่มบางชนิดนั้นมีแบคทีเรียแลคโตบาซิลลัสอันมีประโยชน์ต่อร่างกายตามที่ได้โฆษณาไว้ คำศัพท์ที่ใช้กันบ่อย ๆ ได้แก่
- Microbiota: จุลินชีพที่มีชีวิต(แบคทีเรีย ไวรัส เชื้อรา) อาศัยอยู่ในสิ่งแวดล้อมนั้น ๆ
- Microbiome: สารพันธุกรรมทั้งหมดของจุลินชีพ ในสภาวะแวดล้อมนั้น ๆ
เซลล์ของมนุษย์ทั้งร่างกายนั้น มีจำนวนรวมกันประมาณ 37 ล้านล้านเซลล์ และมียีนทั้งหมดราว ๆ 30,000 ยีน แต่เมื่อเปรียบเทียบกับเซลล์จุลินชีพทั้งหมดกว่า 1,500 สายพันธุ์ที่อาศัยอยู่ร่วมกับร่างกายของคนเรานั้น พบว่ามีจำนวนเซลล์ของจุลินชีพรวมกันมากกว่า 100 ล้านล้านเซลล์ ซึ่งมากกว่าเซลล์ของมนุษย์เสียอีก และมียีนรวมกันมากถึง 10,000,000 ยีน ซึ่งมากกว่ายีนของมนุษย์ถึง 350 เท่า หากนำมาเปรียบเทียบเป็นกราฟเพื่อให้เห็นภาพเซลล์และสารพันธุกรรม ระหว่างคนและจุลินชีพว่าต่างกันมากน้อยแค่ไหน จะเป็นดังกราฟด้านล่างเลย โดยให้แท่งสีฟ้าเป็นตัวแทนของมนุษย์ และแท่งสีเขียวเป็นตัวแทนของจุลินชีพ

Microbiota เหล่านี้มาจากไหน ?
จุลินชีพเหล่านี้อาศัยอยู่ร่วมกับมนุษย์เรามานานมากแล้ว และมีวิวัฒนาการร่วมกันตามธรรมชาติที่สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน และไม่ใช่มีเพียงแค่มนุษย์เท่านั้น ที่มีจุลินชีพเหล่านี้อยู่ แต่ในสัตว์อื่น ๆ นั้นก็มีด้วยเช่นกัน เพียงแต่อาจจะเป็นจุลินชีพคนละสายพันธุ์กันเท่านั้นเอง
และไม่เพียงเท่านั้น แม้ว่ามนุษย์ด้วยกันเองที่มีต้นกำเนิดมาจากคนละแห่งกัน ก็มีวิวัฒนาการร่วมกับจุลินชีพคนละสายพันธุ์กันด้วยเช่นกัน

Microbiome หรือ ยีนของจุลินชีพเหล่านี้ส่งผลโดยตรงกับการแสดงออกของยีนของมนุษย์เรา ในการกระตุ้นให้ยีนของเราสามารถดำเนินไปในทางที่ดี หรือแย่ต่อสุขภาพ อีกทั้งยังมีส่วนช่วยในเรื่องดังต่อไปนี้
ลดความเสี่ยงหรือเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคเรื้อรังต่าง ๆ
โรคที่เกี่ยวกับภูมิคุ้มกันของร่างกาย
โรคที่เกี่ยวกับทางเดินอาหาร
โรคที่เกี่ยวกับระบบประสาท
รวมไปถึงเรื่องที่หลาย ๆ คนกังวลกันอยู่ก็คือ "โรคอ้วน" นั่นเอง ดังที่เคยได้เขียนบทความเรื่อง เกิดมาพร้อมกับยีนไม่ดี ปรับไลฟ์สไตล์ช่วยได้ แผนภูมิด้านล่างนี้แสดงให้เห็นว่า Epigenetics หรือปัจจัยเหนือยีน มีผลต่อการผลักดันยีนให้แสดงออกมาเป็นตัวเราได้อย่างไร

การที่เราจะมีจุลินชีพตัวดีหรือตัวไม่ดีนั้น จริง ๆ แล้ว เริ่มขึ้นตั้งแต่แรกคลอดเลย แล้วมีปัจจะอะไรบ้างที่ส่งผลต่อ Microbiota หรือจุลินชีพ
การคลอดแบบธรรมชาติ vs การผ่าคลอด (หากคลอดธรรมชาติจะได้รับเชื้อตัวดีมาจากช่องคลอด)
การดูดนมจากเต้านมมารดา (ได้รับเชื้อมาจากหัวนมและผิวหนังของมารดา)
อาหารที่รับประทาน (เชื้อตัวดีมักชอบอาหารที่มีกากใย และไฟเบอร์สูง)
สิ่งแวดล้อมที่อาศัยอยู่ (หากสะอาดเกินไปก็อาจจะมีเชื้อโรคตัวดีน้อยเกินไป)
โรคภัยไข้เจ็บและการได้รับยารักษา (หากได้รับยาฆ่าเชื้อบ่อย เชื้อตัวดีจะตายจากไปด้วย)
การสูบบุหรี่ มลภาวะทางอากาศ การติดเชื้อต่าง ๆ
เพศ อายุ และดัชนีมวลกาย(BMI)
อันที่จริงแล้วเชื้อเหล่านี้ อาศัยอยู่เกือบทุกส่วนของร่างกาย แต่ตำแหน่งที่เชื้อชอบมาศัยอยู่มากที่สุด และมีผลต่อสุขภาพของเราโดยตรงมาก นั่นก็คือ "ลำไส้"
เรามาดูกันว่าหากเรามีเชื้อจุลินชีพไม่สมดุล (มีเชื้อตัวไม่ดีอยู่มาก) จะส่งผลกระทบอย่างไรบ้าง
โรคภูมิแพ้
น้ำหนักเกิน (อ้วน)
โรคหอบหืด
โรคภูมิคุ้มกันตนเองบกพร่อง
ข้ออักเสบ
โรคกระดูกพรุน
ปัญหาผิวพรรณ เช่น สิวขึ้นผิดปกติ
โรคเกี่ยวกับอารมณ์ผิดปกติ
ความจำเสื่อม (Dementia)
โรคมะเร็ง
การอักเสบที่ผิดปกติ
การที่เชื้อในลำไส้ของเราเสียสมดุลไป มีชื่อทางการเรียกว่า Gut dysbiosis โดยจะมีลักษณะของเชื้อในลำไส้คือ
มีจำนวนเชื้อตัวดีเหลืออยู่น้อย
มีจำนวนเชื้อตัวร้ายอยู่มากเกิน
มีความหลากหลายทางชีวภาพของเชื้อต่ำ

การเกิด Gut dysbiosis ส่วนมากเกิดมาจากการใช้ชีวิตที่ไม่ดีของเราเกือบทั้งสิ้น สิ่งแรกเลยที่เราสามารถแก้ไขได้คือการเลือกรับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์ (เช่น mediterranean diet) ซึ่งดีต่อเชื้อตัวดีในลำไส้ รวมถึงหลีกเลี่ยงอาหารที่ไม่ดีต่าง ๆ รวมถึงสารพิษต่าง ๆ เช่น แอลกอฮอล์ และหลีกเลี่ยงการใช้ยาฆ่าเชื้อด้วยตนเองที่ซื้อตามร้านขายยาโดยไม่จำเป็น เพียงเท่านี้เราก็จะสามารถรักษาสมดุลเชื้อตัวดีของเราไว้ได้
หากใครที่มีภาวะเสียสมดุลของเชื้อ (Dysbiosis) ไปแล้วไม่ต้องตกใจไป เพราะยังพอมีทางแก้ไข
ในครั้งหน้า หมอจะมาเขียนเกี่ยวกับเรื่อง Prebiotic และ Probiotic ซึ่งเข้ามามีบทบาทในการปรับสมดุลของเชื้อจุลินชีพ รวมถึงหลักการต่าง ๆในการเลือกซื้ออาหารเสริมมาใช้
น.พ. หลักเขต เหล่าประไพพรรณ
(Anti-aging and Integrative Medicine)
Reference :
Davenport et al. BMC Biology (2017)